Skip links
View
Drag

Tech Talk

Serverless การพัฒนาแอปพลิเคชันยุคต่อไปที่ไม่ต้องเผื่อทรัพยากรไว้ล่วงหน้า

แนวทางการวางระบบไอทีในองค์กรคงมีขั้นตอนหนึ่งคือการประเมินการใช้ทรัพยากรของแอปพลิเคชันใหม่ที่เรากำลังติดตั้งว่าต้องใช้ซีพียู แรม หรือเน็ตเวิร์คมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการประเมินให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ องค์กรต่างๆ จึงมักมีทรัพยากรเหลือๆ ไม่ได้ใช้งานจำนวนมาก หรือแอปพลิเคชันบางส่วนทำงานแค่บางช่วงเวลาก็มักถูกกันทรัพยากรเตรียมไว้ให้ โดยที่ไม่มีแอปพลิเคชันอื่นมาใช้งานได้ การใช้งานคลาวด์ช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทำได้สะดวกขึ้นในช่วงหลังเนื่องจากองค์กรไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์มาเตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่สั่งใช้งานเพิ่มได้ทันทีที่ต้องการ แต่กระนั้นหากแอปพลิเคชันไม่ได้ออกแบบให้เตรียมพร้อมสำหรับการขยายตามโหลดที่ใช้งานจริง องค์กรก็มักต้องเสียค่าใช้จ่ายทรัพยากรสิ้นเปลืองไปเป็นปกติแม้จะใช้คลาวด์ก็ตาม แนวทางการพัฒนาแบบ Serverless จึงเริ่มเป็นที่น่าสนใจสำหรับองค์กรขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง โดยแนวทางนี้คือการที่โค้ดถูกเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์รอที่จะรัน โดยไม่ต้องจองทรัพยากรใดๆ ล่วงหน้า หากมีเหตุการณ์ (event) ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดนั้น เช่น การเรียกใช้งานเว็บ ตัวโค้ดจึงถูกเรียกขึ้นมา จองแรมและซีพียู และประมวลผลข้อมูลเพื่อตอบกลับ บริการคลาวด์ส่วนมากมีบริการ Serverless ให้บริการ เช่น AWS Lambda หรือ Google Cloud Run โดยบริการเหล่านี้คิดค่าใช้งานอย่างละเอียด เช่น การใช้ซีพียูและแรมเป็นวินาที แม้ว่าราคาอาจจะดูแพงหากคิดการเปิดเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลา แต่หากไม่มี event เรียกใช้งานโค้ดเลยก็จะแทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในองค์กรเอง การใช้เฟรมเวิร์ค เช่น KNative มาสร้างบริการ Serverless ภายในองค์กรเริ่มเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะการที่ไม่มีแอปพลิเคชันจองทรัพยากรไว้ไม่ว่าจะใช้งานหรือไม่ ทำให้องค์กรสามารถประหยัดทรัพยากรโดยรวมลงได้ อัตราการใช้งานเซิร์ฟเวอร์คุ้มค่ามากขึ้น ข้อจำกัดของ Serverless คือแอปพลิเคชันที่มีอยู่เดิมอาจจะต้องปรับแก้เยอะหรือบางกรณีอาจจะต้องพัฒนาใหม่แต่ต้น และการใช้งานหลายครั้งก็ผูกติดกับผู้ให้บริการคลาวด์อย่างแนบแน่น อาจจะทำให้การย้ายแอปพลิเคชันออกไปยังคลาวด์อื่นทำได้ยาก นับเป็นความท้าทายในการตัดสินใจแนวทางการพัฒนาต่อไป – – –โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาลChief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Spear Phishing ภัยธุรกิจสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่คิด

ภัยไซเบอร์กลายเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ หลายคนอาจจะคิดว่าการโจมตีไซเบอร์นั้นแฮกเกอร์ต้องสร้างโปรแกรมพิเศษมาเจาะเข้าเครือข่าย เข้าถึงข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ ไปจนถึงแอบดูข้อมูลทุกอย่างในเครื่องเราได้ แต่การโจมตีส่วนใหญ่แล้วมาจากการส่งเมลหลอก หรือฟิชชิ่ง (phishing) ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคอะไรมากมายนัก แต่อาศัยการปรับแต่งอีเมลและสร้างเว็บให้แนบเนียน เพื่อหลอกเอาข้อมูลเท่านั้น ฟิชชิ่งสมัยก่อนนั้นมักอาศัยการส่งอีเมลหว่าน โดยปลอมตัวว่าเป็นอีเมลจากบริการยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อีเมลฟรี, หรือธนาคารดัง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้ยอมใส่รหัสผ่าน และแม้แต่ OTP ที่ส่งมาทาง SMS ก็ตาม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงหลายปีมานี้เริ่มปรับตัวกันมากขึ้น และผู้ใช้ก็ไม่ค่อยตกเป็นเหยื่ออีเมลฟิชชิ่งกันบ่อยนัก แต่คนร้ายก็ปรับตัวไป โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งอีเมลปลอมอย่างเจาะจงมากยิ่งขึ้น ทำให้อีเมลหลอกมักอยู่ในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ บางทีเป็นการพูดคุยต่อเนื่องกับบทสนทนาของตัวจริง เรียกการโจมตีแบบนี้ว่า spear phishing เปรียบกับการจับปลาแบบใช้หอกพุ่งตรงไปยังตัวปลาแทนที่จะหว่านแหไป ตัวอย่างของการโจมตี เช่น คนร้ายปลอมตัวเป็นซัพพลายเออร์ที่บริษัทซื้อสินค้าอยู่เป็นประจำ ส่งอีเมลแจ้งเรียกเก็บเงินเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา พร้อมกับโน้ตสั้นๆ ว่าขอเปลี่ยนหมายเลขบัญชีรับเงิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อก็อาจจะพลาดยอมโอนเงินไปยังบัญชีของคนร้ายโดยไม่รู้ตัว การปลอมตัวอาจจะใช้ข้อมูลที่หาได้โดยง่าย เช่น ชื่อของพนักงานที่ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินแล้วสร้างอีเมลใหม่ปลอมชื่อ หรือบางครั้งอาจจะผสมกับการแฮกอีเมลพนักงานจริงแล้วใช้ส่งอีเมลหลอกเพิ่มความแนบเนียนไปอีกขั้น การโจมตีคล้ายๆ กันนี้เราอาจจะพบเรื่อยๆ เช่นการแฮกเฟซบุ๊กแล้วส่งข้อความไปยังเพื่อนของเหยื่อเพื่อขอยืมเงิน แต่การแฮกเฟซบุ๊กนั้นคนร้ายอาจจะได้เงินไปปริมาณไม่มากนัก แต่ละครั้งอาจจะหลายพันหรือหลายหมื่นบาท ในกรณี Spear Phishing กับองค์กรความเสียหายอาจจะหลายล้านบาทเลยทีเดียว การป้องกันการโจมตีเช่นนี้มีตั้งแต่มาตรการทางเทคนิค เช่น การเตือนผู้ใช้ว่ากำลังส่งข้อความหรืออีเมลหาใครอยู่ ให้แยกให้ออกอย่างชัดเจนแม้ชื่ออีเมลจะดูคล้ายกัน, ติดตั้งระบบคัดกรองและแจ้งเตือนอีเมลมุ่งร้าย ตลอดจนวางนโยบายการทำงานให้รัดกุมความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนเลขบัญชีจ่ายเงินออก ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เป็นต้น – – –โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาลChief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Tags

TDRI EIS Live On-Line Briefing

แม้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้มีการประกาศเลื่อนกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ หรือ PDPA ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2565 แต่ทุกภาคส่วนก็ยังต้องเตรียมความพร้อมรับมือต่อกฎหมาย ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำมาปรับใช้และปรับตัวให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ⠀⠀ วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา คุณเล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร (CEO, MFEC) ได้รับเกียรติจาก TDRI-EIS เข้าร่วม TDRI EIS Live On-Line Briefing พูดคุยในหัวข้อ ” Preparing for PDPA Implementation: Myths and Realities” ร่วมกับ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (TDRI) ดร. กิริดา ภาพิชิต (TDRI) ดร. สุนทรี ส่งเสริม (DES) คุณอนุสรา โชควณิชพงศ์ (Lotus’s) และคุณอาภาธร ราชชุมพล (SCB) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน PDPA⠀⠀ การพูดคุยในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม PDPA พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาของบริษัทต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานในแต่ละองค์กร โดยกฎหมาย PDPA อาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาให้กับธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจที่ยังไม่ได้ดำเนินการอยู่บนดิจิทัล จึงควรเกิดการ Transformation องค์กรก่อนที่จะกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ หรือ PDPA ยังมีกฎหมายย่อยอีกหลายๆ ส่วนที่รอการสรุปที่ชัดเจน ดังนั้นผู้ดำเนินธุรกิจจึงต้องคอยติดตามและศึกษาข้อมูลกฎหมายอย่างละเอียด ผลของกฎหมาย PDPA ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลมากยิ่งขึ้น ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยเพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสี่ยงที่บานปลายขึ้นได้

MFEC

MFEC

Continuous Integration เปลี่ยนกระบวนการพัฒนาให้เป็นเรื่องอัตโนมัติ

กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ นั้นหากมีการควบคุมคุณภาพ เราก็มักจะรวบรวมฟีเจอร์ต่างๆ จากทีมพัฒนาเข้ามารวมกันเป็นรอบๆ แล้วส่งทีมควบคุมคุณภาพเพื่อทดสอบและหาบั๊กในโค้ดที่กำลังพัฒนาต่อไป กระบวนการเช่นนี้ทำให้โปรแกรมเมอร์อาจจะต้องรอเป็นเวลานาน กว่าจะรับรู้ว่าฟีเจอร์ที่ตัวเองพัฒนาไปนั้นไปสร้างบั๊กให้กับโครงการโดยรวมในจุดอื่นๆ หรือไม่ ทำให้แนวทาง Continuous Integration (CI) ได้รับความสนใจขึ้นมามากในช่วงหลัง แนวทาง CI คือการสร้างระบบที่รวบรวมโค้ดจากนักพัฒนาเข้ามาเป็นชุดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้โค้ดที่อยู่ในมือนักพัฒนาแต่ละคนต่างกันนานเกินไป แนวทางนี้มักรวบเข้ากันกระบวนการทดสอบซอฟต์แวร์โดยอัตโนมัติ (automated test) ที่ทำให้โค้ดที่ถูกรวมเข้าไปถูกทดสอบว่าสามารถทำงานตามเงื่อนไขได้อย่างถูกต้อง ซอฟต์แวร์ CI มักเชื่อมต่อกับระบบเก็บซอร์สโค้ด เมื่อมีการส่งโค้ดเข้าโครงการ เช่น นักพัฒนาคนหนึ่งส่ง pull request เข้ามาเพื่อส่งฟีเจอร์ใหม่ ระบบจะนำโค้ดนั้นไปคอมไพล์และรันทดสอบว่าผ่านดีหรือไม่โดยอัตโนมัติ ผู้ดูแลโครงการสามารถเห็นรายงานเบื้องต้นว่าคุณภาพโค้ดยอมรับได้ ตัวซอฟต์แวร์ที่ทำงานเช่นนี้มีหลายตัวในตลาด ระบบจัดเก็บซอร์สโค้ดอย่าง GitLab นั้นมีฟีเจอร์ CI ในตัว หรือบริการคลาวด์หลายตัวก็เริ่มให้บริการ CI บ้างแล้ว เช่น Azure Pipelines หรือแพลตฟอร์ม Kubernetes อย่าง OpenShift ก็มีฟีเจอร์ OpenShift Pipelines การจัดหาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะใช้ประโยชน์จากแนวทาง CI ได้อาจจะต้องปรับตัวกันตั้งแต่กระบวนการออกแบบซอฟต์แวร์ที่เปิดให้สร้างระบบทดสอบอัตโนมัติได้โดยง่าย และหน้าที่ของคนในทีมที่ต้องทำงานโดยมองระบบอัตโนมัติเป็นสำคัญ – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Grafana ทางเลือกสำหรับการทำ dashboard ในองค์กร

งาน dashboard เป็นงานที่เกิดขึ้นเสมอๆ โดยแพลตฟอร์มข้อมูลต่างๆ มักมีระบบสร้าง dashboard ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น Kibana ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ร่วมกับ Elasticsearch เฉพาะ แต่ซอฟต์แวร์ dashboard อย่าง Grafana สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้หลายแหล่ง ทำให้ใช้งานได้หลากหลาย รูปแบบของ Grafana นั้นมองฐานข้อมูลต่างๆ เป็นแหล่งข้อมูล (data source) โดยสามารถรวมเอาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งมาแสดงในหน้าจอ dashboard เดียวกันได้ ข้อดีสำคัญของ Grafana คือการทำงานที่ค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับ dashboard อย่าง Kibana การใช้งานแสดงผลทันใจกว่ามาก และมีฟีเจอร์จัดการการแจ้งเตือนที่สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนเข้าอีเมล, Microsoft Teams หรือบริการอื่นเมื่อค่าที่ตั้งไว้เกินกำหนดได้ ฟีเจอร์เช่นนี้ dashboard หลายตัวไม่มีให้ หรือมีก็ต้องติดตั้งส่วนเสริมเอง ไปจนถึงต้องเป็นเวอร์ชั่นจ่ายเงินเพิ่มเติม แต่ Grafana นั้นใช้งานได้จากเวอร์ชั่นโอเพนซอร์สเลย ตัวซอฟต์แวร์ Grafana เป็นโอเพนซอร์ส และดูแลโดยบริษัท Grafana Labs ที่ให้บริการ Grafana Cloud และซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นองค์กร Grafana Enterprise ไปพร้อมกัน โดยเพิ่มการซัพพอร์ตระยะยาว ทำให้องค์กรไม่ต้องเร่งอัพเดตเวอร์ชั่นให้ทันอยู่ตลอดเวลา, เพิ่มความสามารถในการจัดการผู้ใช้ที่ซับซ้อนขึ้น Grafana เพิ่งออกเวอร์ชั่น 7.0 หน้าตาสวยงามขึ้นหลายจุด ก็นับเป็นระบบ dashboard ที่น่าสนใจให้ทีมงานฝึกฝนกันไว้ – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

รหัสผ่านรั่วไหล ความเสี่ยงใหม่ในการรักษาความปลอดภัยองค์กร

เวลาที่องค์กรตั้งบริการออนไลน์สักอย่างไม่ว่าจะเพื่อให้บริการภายในกันเองหรือให้บริการลูกค้าภายนอก ขั้นตอนหนึ่งที่ต้องทำเสมอคือการยืนยันตัวตนผู้ใช้ หรือ authentication ซึ่งกระบวนการปกติก็คงเป็นการล็อกอินด้วยรหัสผ่าน ที่หลายองค์กรก็มีเงื่อนไขความซับซ้อนรหัสผ่านไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดความยาว, บังคับใช้ตัวเลข หรืออักษรพิเศษ แต่ความเสี่ยงใหม่ของการใช้รหัสผ่านคือผู้ใช้จำนวนมากเลือกที่จะล็อกอินบริการต่างๆ ไม่ว่าจะนอกหรือในองค์การด้วยรหัสผ่านซ้ำๆ กัน เพื่อความสะดวก ทำให้หากผู้ใช้นำรหัสไปใช้งานเว็บที่รักษาความปลอดภัยไม่ดีพอ เมื่อถูกแฮกขึ้นมาแฮกเกอร์ได้รหัสผ่าน สิ่งที่แฮกเกอร์ทำแทนที่จะนำรหัสผ่านไปใช้ในเว็บที่ถูกแฮกเท่านั้น ก็นำไปทดลองล็อกอินที่อื่นๆ ไปด้วย หากผู้ใช้ใช้รหัสซ้ำกัน ไม่ว่ารหัสจะซับซ้อนแค่ไหนแฮกเกอร์ก็ล็อกอินเข้ามาแทนโดยง่าย มาตรฐานความปลอดภัยสมัยใหม่เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ และแนะนำให้องค์กรตรวจสอบฐานข้อมูลรหัสผ่านรั่วไหลตลอดเวลา องค์กรอาจะต้องเทียบว่าผู้ใช้ได้ใช้งานรหัสผ่านที่เคยรั่วที่อื่นมาแล้วหรือไม่ หากพบรหัสผ่านในฐานข้อมูลก็อาจจะต้องแจ้งให้เปลี่ยนรหัสแม้จะซับซ้อนพอสมควรแล้วก็ตามที – – – โดยคุณ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

ทำไมโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink จึงน่าสนใจ

SpaceX เป็นบริษัทที่หลายคนคงได้ยินชื่อกันบ่อยครั้งในช่วงหลัง แม้บริการของ SpaceX คือการให้บริการขนดาวเทียมขึ้นไปยังวงโคจรซึ่งเป็นบริการที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราแต่อย่างใด แต่บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink น่าจะเป็นบริการที่เรามีโอกาสได้ใช้งานกันในระยะเวลาไม่นานเกินไป อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แม้แต่ในประเทศไทยหลายคนก็อาจจะได้ใช้งานดาวเทียม IPStar กันมาบ้างแล้ว แต่อินเทอร์เน็ตดาวเทียมก่อนหน้านี้มักใช้ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ที่ตัวดาวเทียมอยู่ตำแหน่งเดิมเมื่อเรามองขึ้นไปจากโลกตลอดเวลา (ทำให้เราสามารถเล็งจานดาวเทียมไปทางเดิมครั้งเดียวตอนติดตั้ง) แม้ว่าจะอินเทอร์เน็ตดาวเทียมจะมีข้อดีที่พื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว้างไกล แต่ข้อเสียสำคัญคือแบนด์วิดท์นั้นจำกัดเพราะดาวเทียมหนึ่งดวงให้บริการพื้นที่แทบทั้งทวีป แถมระยะเวลาหน่วง (latency) ยังสูงมากเพราะดาวเทียมอยู่ไกล ทำให้ไม่สามารถใช้งานบางประเภทเช่นการคุยโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต Starlink อาศัยดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่โคจรไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เมื่อเรามองจากพื้นโลก แล้วอาศัยการยิงดาวเทียมจำนวนมากๆ เพื่อให้มีดาวเทียมเข้ามาให้บริการในพื้นที่ตลอดเวลา โดยคาดว่ากว่า Starlink จะให้บริการครอบคลุมทั้งโลกได้ จะต้องใช้ดาวเทียมนับหมื่นดวง ขณะที่ดาวเทียมค้างฟ้านั้นใช้เพียง 3 ดวงเท่านั้น แต่ความที่ Starlink เป็นดาวเทียมใกล้พื้นผิวโลก ทำให้ latency และแบนด์วิดท์นั้นอาจจะใกล้เคียงกับอินเทอร์เน็ตบ้านทุกวันนี้เลยทีเดียว และผู้บริหารของ SpaceX ก็ออกมาให้ข่าวหลายครั้งว่าราคาค่าบริการจะไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตบ้านมากนัก การให้บริการระดับอินเทอร์เน็ตบ้านโดยมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วโลกจะสร้างโอกาสใหม่ เช่น การใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินหรือเรือโดยสารที่ทุกวันนี้ยังมีราคาแพงก็อาจจะถูกลงจนทุกคนใช้งานเป็นเรื่องปกติ โดยปีนี้กองทัพสหรัฐฯ ได้ทดสอบอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินผ่าน Starlink ได้แบนด์วิดท์ถึง 610Mbps เลยทีเดียว การประชุมวิดีโอคุณภาพสูงที่ทุกวันนี้หลายคนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสักหน่อย 4G ยังไม่ครอบคลุมก็จะกลายเป็นใช้งานได้ทุกที่จนการโทรวิดีโอเป็นเรื่อปกติยิ่งกว่าทุกวันนี้ไปอีกระดับ อินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมเช่นนี้เมื่อใช้ร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G/5G ก็อาจจะทำให้การตรวจสอบกล้องวงจรปิดในรถจากเดิมเป็นการบันทึกในตัวรถอย่างเดียว หรือรายงานเฉพาะตำแหน่ง กลายเป็นการสตรีมภาพจากกล้องให้ศูนย์กลางตรวจสอบได้ตลอดเวลา Starlink น่าเริ่มเปิดบริการจริงในบางประเทศภายในปีนี้ และถึงเวลานั้นเราน่าจะได้เห็นว่าราคาค่าบริการใกล้เคียงอินเทอร์เน็ตบ้านจริงหรือไม่ – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Prediction Machines หนังสือแนะนำถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโลกธุรกิจ

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นยุคของปัญญาประดิษฐ์อย่าง นับตั้งแต่กูเกิลเปิดงานวิจัยว่าสามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่เอาชนะเกมโกะกับผู้เล่นระดับมืออาชีพได้เมื่อปี 2016 และสามารถเอาชนะแชมป์โลกอย่าง Lee Sedol ได้ในปี 2017 ธุรกิจต่างๆ ก็ตื่นตัวว่าจะเอาปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานกันได้อย่างไรบ้าง หนังสือ Prediction Machines โดย Ajay Agrawal, Joshua Gans, Avi Goldfarb ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2018 ไม่ได้ลงลึกไปว่าปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลังมานี้ทำงานอย่างไร แต่มุ่งไปว่ามันแก้ปัญหาอะไร โดยบอกว่ามันทำนาย (predict) ผลจากอินพุต หลังจากนั้นก็เล่าถึงผลกระทบว่าหากเราสามารถทำนายสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำขึ้น มันจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง เช่น การทำนายเส้นทางที่ดีที่สุดในการเดินทาง เนื้อหาในหนังสือเน้นหนักไปที่การใช้งานจริงในธุรกิจ หนังสือบอกเล่าถึงทางเลือกของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในองค์กร ทั้งการซื้อมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ ทางเลือกในการถือทรัพย์สินที่ใช้สร้างปัญญาประดิษฐ์ และข้อกังวลจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจกลายเป็นการทำผิดกฎหมายในบางประเทศโดยไม่รู้ตัว นับเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่แนะนำให้ทุกคนที่กำลังนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในองค์กรได้อ่านกัน หนังสือมีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ในชื่อ จักรกลพยากรณ์ – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Augmented Reality หรือกระแสนี้จะเป็นของจริง

หลายปีก่อนเรามักได้ยินคำว่า Virtual Reality หรือ VR กันอย่างมาก โดยว่ามันจะเข้ามาเปลี่ยนการใช้งานคอมพิวเตอร์ไป โดย VR เป็นการใส่แว่นครอบหัวที่ทำให้เราเข้าไปในโลกเสมือน ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือเมื่อกูเกิลออก Google Cardboard กระดาษง่ายๆ ที่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นแว่น VR ได้ก็ทำให้คนจำนวนมากเข้าใช้งาน VR ได้อย่างง่ายดาย แต่ผ่านไปหลายปีความนิยม VR ก็ยังไม่ไปถึงไหนนัก ความนิยมยังค่อนข้างจำกัดนอกจากเกมบางเกมเท่านั้น คำที่เกิดขึ้นตามหลัง VR มากคือ Augmented Reality หรือ AR ที่ขยายโลกเสมือนจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเข้าไปในโลกความเป็นจริง ตัวอย่างสำคัญของ AR คือเกม Pokemon Go ที่เราเคยเห็นมันโด่งดังไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองก็ตาม ที่มีคนรวมตัวไปจับตัว Pokemon กันมากมาย แต่ประโยชน์ของ AR ไม่ได้มีเพียงแค่เกมเท่านั้น ในช่วงหลังมานี้หลายบริษัทสามารถนำ AR มาใช้ประโยชน์อื่นได้อย่างชัดเจน เช่น แผนที่ที่หลายคนอาจจะมีปัญหาไม่สามารถอ่านแผนที่บนหน้าจอได้ เมื่อใช้ AR เพียงยกโทรศัพท์ขึ้นส่องถนนหนทาง แอปแผนที่แบบ AR สามารถนำทางเหมือนมีผู้นำทางส่วนตัวเดินนำเลยทีเดียว การใช้งานอาจจะปรับใช้กับงานนิทรรศการหรืองานจัดแสดงสินค้าต่างๆ ที่ผู้ร่วมงานสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ประโยชน์สำคัญอีกอย่างของ AR คือการทดลองวางสิ่งของต่างๆในห้อง ทำให้เราสามารถเห็นรูปแบบการจัดวางได้อย่างชัดเจน การใช้งานจริงในกรณีนี้มีตั้งแต่การใช้จัดห้องสำหรับประกอบการขายที่อยู่อาศัยหรือเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการใช้ในงานอุตสาหกรรมในงานจัดการคลังสินค้าหรือการขนส่งต่างๆ ที่ช่วยให้พนักงานจัดวางสินค้าและดึงสินค้าออกมาได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นการใช้งาน AR กันแพร่หลายนัก ในการใช้งานแผนที่เองแม้ช่วงแรกได้รับความสนใจสูงก็ยังมีการใช้งานจำกัด การลงทุนกับ AR น่าจะเหมาะสำหรับคนที่อยากทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าจะปรับใช้ได้จริงหรือไม่ – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC

Contact Tracing การใช้ Bluetooth มารับมือโรค COVID-19

ในช่วง COVID-19 นี้เราเห็นความพยายามในการใช้เทคโนโลยีจัดการโรคจนกว่าจะแน่ใจได้ว่าหมดวิกฤติครั้งนี้ไป และเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกเสนอมาใช้งานคือการติดตามการเข้าใกล้กัน หรือ contact tracing ที่ผู้ใช้เพียงติดตั้งแอปแล้ว หากวันใดมีคนใกล้ตัวเราติดโรค COVID-19 ขึ้นมา หน่วยงานรัฐก็สามารถแจ้งเตือนเราให้กักตัวเองหรือไปตรวจที่โรงพยาบาลได้ Contact Tracing นั้นมีแกนกลางหลักเป็นเทคโนโลยี Bluetooth Beacon ที่มีใช้งานมานาน โดยหลักการคือโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ Bluetooth ใดๆ สามารถกระจายข้อมูลในพื้นที่ใกล้ๆ ได้โดยใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย เทคโนโลยีนี้ใช้งานในช่วงแรกๆ เพื่อการโฆษณา เช่น ร้านค้าอาจจะส่งลิงก์สำหรับโปรโมชั่นล่าสุดเข้าไปยังโทรศัพท์ลูกค้าเมื่อเดินเข้ามาในร้าน ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารระยะใกล้อยู่แล้ว ทำให้ Beacon เหมาะแก่การตรวจสอบประวัติการเข้าใกล้ชิดกันในช่วง COVID-19 ไปด้วย โดยตอนนี้มีกลุ่มที่พัฒนาแอปและโปรโตคอลในการส่งสัญญาณ Beacon ออกมาแล้วหลายกลุ่ม เช่น TraceTogether ของสิงคโปร์หรือแอปหมอชนะของไทย แต่ความร่วมมือระหว่างแอปเปิลและกูเกิลที่ออกโปรโตคอลใหม่และสัญญาว่าจะฝังฟีเจอร์นี้ไว้ในโทรศัพท์จำนวนมาก (แม้ผู้ใช้ต้องไปเปิดเอง) ก็ทำให้สุดท้ายแอป contact tracing ทั้งหมดต้องไปใช้งานเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัท อย่างไรก็ตาม ตัวเทคโนโลยี Beacon ยังมีแนวทางการใช้งานที่เป็นไปได้อีกหลายอย่าง ที่ผ่านมานอกจากการโฆษณาแล้ว ยังมีบริษัทใช้ลงเวลาทำงานเพราะตรวจสอบได้ว่าพนักงานต้องมาถึงที่ทำงานจริง หรือ LINE Pay เองก็ใช้ Beacon ในการจ่ายเงินแบบไร้สัมผัสแทนที่จะใช้ NFC เหมือนบริษัทอื่น เพราะ Beacon นั้นมีในโทรศัพท์สมัยใหม่แทบทุกเครื่อง ต่างจาก NFC ที่มีเฉพาะรุ่นราคาแพงเท่านั้น น่าสนใจว่าหลังจาก contact tracing แล้วจะมีการใช้งาน Beacon ในรูปแบบใดกันอีกบ้าง – – – โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC

MFEC

MFEC