Skip links
View
Drag

10 เทคโนโลยีที่กำลังเติบโต
และน่าจับตามองในปี 2023 

คุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Chief Technology Officer, MFEC ได้เข้าร่วมงาน National Coding Day: 2023 ให้ความรู้ในหัวข้อทิศทางของเทคโนโลยีและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกของเทคโนโลยีเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อย่าง Chatbot AI ที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์และแปลงออกมาเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้, การพัฒนา Front-end/Back-end  ที่จะมาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคต, เรื่องของ Accessibility การออกแบบ แบบสิ่งต่าง ๆ ที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นวงกว้างและเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย 

1. Chatbot

Chatbot เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก โดย Dev หรือ นักพัฒนาจะนำปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการแชท หรือ Language Model ไปใช้งานมากกว่าการถามตอบปัญหาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการให้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในเรื่องของการทำธุรกิจ, การเขียนอีเมล, การแก้คำผิด และยังใช้ในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์อีกด้วย  

นักพัฒนาหลายคนได้นำไปใช้งานในการช่วยเขียนโค้ด เช่น การใช้ Chatbot หรือ GPT-3 ในการทำ Commit Message คือการที่นักพัฒนาโยน Div เข้าไปใน GPT-3 ตัวซอฟต์แวร์จะคิด Commit Message มาให้ โดยเราจะเลิก Commit Message ด้วย Message ประเภท Fix Bug หรือ New Feature เพื่อสร้าง Commit Message ที่ดีขึ้น  

อีกส่วนที่พิเศษของปัญญาประดิษฐ์กลุ่ม Large Language Model คือความเก่งกาจในการทำความเข้าใจภาษามนุษย์และแปลงเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ เช่น การโยน Comment ใน Pantip เข้าไปให้ ChatGPT อ่านแล้วถามข้อมูลบางอย่าง เช่น Comment นี้มีการพูดถึงเงินเดือนไหมและพูดถึงเงินเดือนเท่าไหร่ ตัวซอฟต์แวร์จะสามารถกำหนดค่าการแสดงออกมาเป็นข้อมูลในรูปแบบที่ซอฟต์แวร์สามารถประมวลผลต่อไปได้โดยง่ายผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานในการทำ Business Intelligence มองเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวมแม้ผู้ใช้จะใช้ภาษาพูดทั่วไป 

2.Matter Protocol 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จุดขายหนึ่งของบ้านใหม่ ๆ คือต้องเป็นบ้านที่มีระบบ Smart Home มีระบบ IoT ติดตั้งมาแต่แรก แต่ปัญหาของเหล่านี้คือ เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า บริษัทที่เราลงทุนด้วยจะพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ในอนาคตมากน้อยแค่ไหน จะอัปเดตซอฟต์แวร์ไปอีกกี่ปี หรือว่าสินค้าจะหาซื้อได้ยากเพียงใดในอนาคตที่เราต้องซ่อมบำรุงบ้านของเรา 

Matter เป็นโปรโตคอลที่ผู้ผลิตและแพลตฟอร์ม IoT รายใหญ่ เช่น Amazon, Apple, Google ตกลงร่วมกัน ว่าจะใช้งานเป็นมาตรฐานกลาง เปิดทางให้อุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานร่วมกันกับอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ หรือซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตอื่นได้ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะทำให้การตัดสินใจติดตั้ง IoT ในบ้านง่ายขึ้นมาก เพราะการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ จะใกล้เคียงการเปลี่ยนหลอดไฟ หรือสวิตช์ไฟในบ้านทุกวันนี้ที่อุปกรณ์ส่วนมากล้วนทำงานร่วมกันได้ แม้ตอนนี้ยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับมากนัก แต่ก็มีการประกาศเตรียมรองรับกันอย่างต่อเนื่อง 

3. Low-code Development Platform

ซอฟต์แวร์แบบ Low-Code ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เช่น Power Apps ของ Microsoft ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนคนเขียน Code  ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ  นอกจากนี้ SAP ก็ได้มีการเปิดแพลตฟอร์ม Low-Code เป็นของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย                 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม Low-Code แบบ Open Source เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น 3 แพลตฟอร์ม Open Source ที่สามารถเข้าใช้งานได้ฟรีได้แก่ ToolJet, Budibase และ Appsmith เมื่อดูในผลสำรวจ GitHub จะเห็นได้ว่ามีความนิยมเกิดขึ้นอย่างมากในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา และมีการแก้ไขพัฒนาข้อจำกัดต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้แทบจะเต็มรูปแบบ โดยบริษัทเหล่านี้ได้ทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ผู้คนมองว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคต 

4. Backend Technology

Backend-as-a-Service (BaaS) เป็นแพลตฟอร์มเปิดทางให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องมาโค้ดระบบหลังบ้าน ระบบเหล่านี้หลายตัวได้รับความนิยมอย่างสูงมาก่อนแล้ว เช่น Firebase และ AWS Amplify เป็นบริการที่มีมานาน และสามารถให้บริการฟีเจอร์สำคัญที่ต้องทำซ้ำไปมาบ่อยๆ ได้ เช่น การบริการฐานข้อมูลที่จำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลตามผู้ใช้ที่เรียกใช้, ระบบลงทะเบียนผู้ใช้, ระบบล็อกอิน, ระบบจัดการหลังบ้านสำหรับผู้ดูแลระบบ แต่บริการเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ว่า บางธุรกิจอาจจะไม่ได้อยากใช้ระบบบริการ Cloud ไปทั้งหมด  ในช่วงไม่กี่ปีมานี้แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม Low Code  ตัวอย่างของแพลตฟอร์มแบบโอเพนซอร์สที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก เช่น Supabase ที่มีการพัฒนามานาน, Appwrite, และ Pocketbase ที่เพิ่งเริ่มพัฒนามาไม่นานแต่ได้รับความนิยมสูงเพราะมีขนาดเล็ก 

5. Serverless

Serverless เป็นเทคโนโลยีที่มีมาตั้งแต่ปี 2014 เป็นบริการที่เราใช้ Computing โดยไม่ต้องจ่ายค่าใช้งานที่คำนวณเป็นรายเดือน แต่จ่ายตามสเกลการใช้งานจริง อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ บริการ Serverless เริ่มรองรับเว็บเฟรมเวิร์คหลักๆ ได้เต็มรูปแบบ ทำให้เราน่าจะเห็นแนวทางการพัฒนาเว็บเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้บริการ Serverless เป็นส่วนสำคัญยิ่งขึ้นในการให้บริการ  

6. WebAssembly (WASM)

WebAssembly หรือ WASM เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อ Compile ซอฟต์แวร์อื่น ๆ มา Run บน Browser ในปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนนำ WASM ไปใช้นอกเว็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบางระดับนั้นมีการใช้งานแทน Docker ไปเลยด้วยซ้ำ ความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากที่สุดคือ Docker Desktop ที่เป็นตัว Docker สำหรับนักพัฒนารองรับ WASM เป็นที่เรียบร้อย จุดขายของ WASM คือการที่มันมีขนาดเล็กมาก และอาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญในกรณีที่เราต้องการให้ซอฟต์แวร์ขยายบริการได้รวดเร็ว เพราะแอปพลิเคชันที่คอมไพล์เป็น WASM มักมีขนาดเล็กกว่า Docker และสามารถเปิดใช้งานได้แทบทันที 

7. SQLite and PostgreSQL

ฐานข้อมูลโอเพนซอร์สยังคงเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงของสองโครงการ คือ SQLite ที่เป็นฐานข้อมูลขนาดเล็กเพียง 400 KB เท่านั้น เริ่มมีการนำ SQLite ไปใช้งานในแอปพลิเคชันเต็มรูปแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ และในปีที่แล้ว WordPress ก็เริ่มมีการทดสอบรองรับ SQLite ในตัว ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะทำ WordPress ได้โดยที่ไม่ต้องมี SQL Server แยกออกมาเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ Google เองก็มีการเริ่มสาธิต SQLite เวอร์ชัน WebAssembly ทำให้สามารถพัฒนาแอปมาอยู่บนเบราว์เซอร์ของเราโดยมีฐานข้อมูลเป็น SQL แบบเต็มตัว จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่อาจจะมีข้อเสียบ้างในเรื่องของ Performance เมื่อมีการเขียนที่เยอะ โดยในตอนนี้ทางทีม SQLite กำลังมีการพัฒนากันอยู่        

สำหรับ PostgreSQL ในปีที่ผ่านมานั้น ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากผลสำรวจของ Stack Overflow ในแง่ของผู้ใช้ที่เป็น Professional นั้น PostgreSQL ขึ้นเป็นอันดับ 1 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสำหรับตลาดที่มีขนาดใหญ่ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก โดย ในชุมชนของ PostgreSQL มีคนช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มจำนวนมาก โดยมีโครงการที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการ AWS Babelfish ที่เป็นการเพิ่มพีเจอร์ของ PostgreSQL ให้สามารถทำงานแทน Microsoft SQL Server ได้บางส่วน 

8. Goodbye Third-Party Cookies. Hello Privacy Sandbox

ในปี 2023 นี้ Google น่าจะยกเลิก 3rd Party Cookie ตามกำหนดการณ์ที่ประกาศไว้ หรืออย่างน้อยก็ใช้งานในรูปแบบที่จำกัดขึ้นมาก โดย Google พยายามนำเสนอ Privacy Sandbox เทคโนโลยีที่บอกความสนใจของผู้ใช้ เปิดทางให้ผู้ลงโฆษณายังสามารถยิงโฆษณาแบบจำกัดเป้าหมายได้ จากเดิมที่ผู้ลงโฆษณาต้องคาดเดาว่าผู้ใช้งานจะสนใจโฆษณาแบบใดบ้างโดยอาศัยการติดตามว่าผู้ใช้เข้าชมเว็บใด Privacy Sandbox อาศัยเบราว์เซอร์หรือโทรศัพท์ให้สำรวจพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ แล้วแจ้งหัวข้อที่ผู้ใช้น่าจะสนใจไปยังผู้โฆษณาว่าผู้ใช้งานมีความสนใจเรื่องอะไร เพื่อที่จะแสดงโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและความสนใจ ในแง่ของนักพัฒนาก็สามารถ Query ขอเบราว์เซอร์ออกมาดูได้ว่า ผู้ใช้งานกำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่เพื่อที่จะแสดงเนื้อหาหรือโฆษณาให้ตรงกับการใช้งานของผู้ใช้ 

9. Passkeys

ปีที่ผ่านมารหัสผ่านกลายเป็นช่องโหว่ใหญ่ของการรักษาความปลอดภัย และที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่คนร้ายได้รหัสผ่านของเหยื่อไป แต่ Passkeys เสนอให้บริการออนไลน์ทั้งหลายเลิกใช้รหัสผ่านไปเลย โดย Passkeys จริง ๆ แล้วคือตัวเดียวกันกับ กุญแจ FIDO U2F ที่เราใช้งานกันมาหลายปี แต่เมื่อก่อนเราต้องซื้อกุญแจ USB มาใช้งานสำหรับ Two-Factor authentication  ในปีที่ผ่านมา Google, Microsoft และ Apple ได้มีการตกลงร่วมกัน ในการที่จะใช้โทรศัพท์มือถือเป็นกุญแจล็อกอิน ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการเป็นกุญแจล็อคอิน เป็นการใช้เบราว์เซอร์แสดง QR Code ให้ผู้ใช้งานใช้โทรศัพท์มือถือสแกนเพื่อเข้าใช้งาน  

10. Accessibility 

Accessibility คือ การออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้ในวงกว้าง ปีที่ผ่านมาเราเห็นบริษัทต่างๆ เริ่มแสดงแนวทางการออกแบบเพื่อรองรับผู้ใช้งานในวงกว้างยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น PlayStation Controller ของ Sony มีฟีเจอร์ที่ครอบคลุมผู้ใช้งานในวงกว้างที่อาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป โดยในเกมใหม่ ๆ จะมีระบบเมนูในการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีข้อกำจัดทางร่างกาย เช่น การปรับ High Contrast ที่ช่วยให้ผู้ที่มีข้อจำกัดทางสายตาเห็นความแตกต่างขององค์ประกอบได้ดียิ่งขึ้น  

แม้ว่าสำหรับนักพัฒนาทั่วไปอาจจะไม่ได้ออกแบบฮาร์ดแวร์เฉพาะเหมือน Sony หรือไมโครซอฟท์ แต่แนวทางการออกแบบให้รองรับผู้ใช้ให้กว้างขึ้นก็เป็นแนวทางที่ชัดเจน หลายครั้งอาจจะไม่ได้ลำบากนัก เช่น การออกแบบเว็บไซต์มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในการแปลงข้อมูลเนื้อหาออกมาเป็นเสียง สำหรับผู้ใช้ที่ไม่พร้อมอ่านข้อมูลหรือไม่สามารถมองจอได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดทางสายตา หรือ การขับรถ การออกแบบการบริการและแอปพลิเคชันเพื่อรองรับผู้ใช้งานได้เป็นวงกว้างมากขึ้นถือเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่สำคัญในปี 2023 นี้ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็น 10 เทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา และน่าจับตามองการเติบโตกันต่อในปี 2023 นี้ 

“เราคาดเดาไม่ได้ว่าโลกของเทคโนโลยีในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เราสามารถเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปีนี้เพื่อเตรียมพร้อมกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในในอนาคต” 

#MFEC #Technology #Nationalcodingday #2023