Skip links
View
Drag

Pull Backup ทางรอดภัย Ransomware

การวางระบบที่มีความสำคัญมากๆ มักมาพร้อมกับการวางแผนสำรองข้อมูลเป็นเรื่องปกติ แต่แผนสำรองข้อมูลส่วนมากกลับวางแผนไว้เพื่อเตรียมพร้อมกรณีฮาร์ดแวร์เสียหายเป็นหลัก เราจึงมักเห็นเซิร์ฟเวอร์แอปพลิเคชั่นต่างๆ ติดตั้งซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลเอาไว้ เพื่อสำเนาข้อมูลไปยังที่ต่างๆ ทั้งไดร์ฟภายนอกและบริการคลาวด์ แนวทางนี้เรียกว่า push backup เป็นการส่งข้อมูลสำรองออกไปจากเครื่องหลัก

ปัญหาของ push backup คือหากแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ถูกแฮก หรือถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ต่างๆ ในเซิร์ฟเวอร์มักมีรหัสผ่านหรือกุญแจสำหรับเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจต่างๆ ที่ใช้เก็บข้อมูลสำรองไปด้วย ในยุค ransomware เช่นทุกวันนี้ ตัวมัลแวร์เริ่มมีความสามารถมากขึ้นรวมถึงบางครั้งมีการทำงานร่วมกับแฮกเกอร์ที่สั่งการโดยตรง (human operated ransomware) ทำให้การทำ push backup ยังเหลือความเสี่ยงอยู่พอสมควร

อีกแนวทางหนึ่งคือการทำ pull backup ที่ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลไปติดตั้งอยู่บนเครื่องเก็บข้อมูลสำรอง จากนั้นสร้าง user บนแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลสามารถเข้ามากวาดข้อมูลออกไปได้ แนวทางนี้มีข้อดีคือเราสามารถจำกัดสิทธิ์ของ user สำหรับสำรองข้อมูลให้เข้าถึงข้อมูลบนแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างจำกัด เช่น สามารถอ่านได้อย่างเดียว ทำให้แม้เซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูลอาจจะถูกแฮก คนร้ายก็ไม่สามารถทำลายข้อมูลในแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ได้

ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลจำนวนมากมีทั้งโหมด push และ pull สำหรับลินุกซ์ ผู้ดูแลระบบสามารถเขียนสคริปต์โดยใช้ rsync รวมกับ OpenSSH ได้ คำสั่งจะอยู่ในรูปแบบ rsync -avz backupagent@appserver:/localbackups/ /remotebackups/

จะเป็นการดึงข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ ในโฟลเดอร์ `/localbackups` มายังเซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูล

การออกแบบระบบสำรองข้อมูลมีความสำคัญ การออกแบบที่ดีลดความเสี่ยงกรณีต่างๆ ไปได้มาก นอกจากนั้นแล้วผู้ดูแลระบบควรพิจารณาซักซ้อมกู้คืนระบบเป็นระยะ รวมถึงอาจสำรองข้อมูลในสตอเรจที่แยกออกไปต่างหากไม่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์คไว้อีกชั้น

– – –

โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล

Chief Technology Officer, MFEC