หลังจากผ่านมา 4 ปี “Local Alike” (โลคอล อไลค์) ได้สร้างรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อสังคมในแนวทางของตัวเองได้อย่างสุดโต่งกระทั่งสามารถใช้พลังบวกของโลกโซเชียลมาสร้างการท่องเที่ยวในชุมชนให้เติบโตแบบยั่งยืน เป็นเสมือนโมเดลใหม่ ที่ยึดหลักคำสอนของพระองค์ท่านเป็นแกนแก่น ซึ่งหากจะกล่าวสั้นๆ ให้เข้าใจถึงคำว่า “Local Alike” คงต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นถึงการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย
ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ และ นุ่น-สุรัชนา ภควลีธร สองผู้ร่วมก่อตั้ง “Local Alike” ที่ทำงานกันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของกลุ่มให้ฟังทำนองว่า เมื่อหลายปีก่อนด้วยความที่ไผ-สมศักดิ์ ต้องเริ่มต้นโครงการใหม่ให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงครั้งสมัยที่ยังเรียน โดยมีโจทย์ว่าจะต้องพัฒนาธุรกิจชุมชนที่เรียกว่าโฮมสเตย์ให้กับดอยตุง และเมื่อเห็นถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดดังกล่าวว่าจะเป็นหนทางที่พัฒนาชุมชนได้ “Local Alike” จึงก่อตั้งขึ้นพร้อมๆ กับได้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในทิศทางเดียวกันอีกหลายชีวิตเข้ามาช่วยเติมเต็ม เพื่อสร้างแพคเกจทัวร์หรือแพคเกจการเรียนรู้ให้กับองค์กรที่สนใจ ในรูปแบบต่างๆ โดยสามารถให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงผู้คนในชุมชนห่างไกลในลักษณะของการท่องเที่ยวเชิงชุมชน
“พวกเรานำเรื่องของโซเชียลมีเดียเข้ามาปรับใช้ นำเสนอความเป็นชุมชนนั้นๆ เช่นไร ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความประทับใจผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ก่อนจะสร้างรูปแบบของเครื่องมือที่สามารถทำให้ผู้คนเข้าไปถึงในชุมชนได้ง่ายๆ ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ อินสตาแกรม ขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวไปยังทั่วโลก พร้อมๆ กับทำกิจกรรมในชุมชนเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีความพร้อมมากพอที่จะรับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งในปัจจุบันเราเริ่มสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในชุมชน 4 รูปแบบคือ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสุดท้ายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม”
“โดย “Local Alike” ของเราก็จะเข้าไปในชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในชุมชนที่เหมาะสมให้กับชุมชนนั้นๆ และพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และ “Local Alike” ก็ไม่ใช่กลุ่มที่จะเลือกทำแต่บางชุมชนแต่เราตั้งใจสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดขึ้นมากที่สุดทั่วทุกจังหวัด ซึ่งถ้าจะพูดถึงการทำงานกลุ่มของเราก็เปรียบเหมือน เป็นพาร์ตเนอร์กับชุมชนแบบระยะยาว โดยจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการ พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว ว่าเราจะนำเสนออะไร เที่ยวแบบไหนในแต่ละชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เกิดการเรียนรู้และประทับใจ โดยเราจะใช้เครื่องมือที่เรามีเข้าไปช่วยในการพัฒนาชุมชน”
นุ่น-สุรัชนา กล่าวถึงหลักการ ก่อนจะอธิบายถึงการนำเอาเรื่องของโซเชียลเข้ามาใช้ในการพัฒนาชุมชนให้ฟังต่อว่า ด้วยวิธีการสร้างรูปแบบของสื่อโซเชียลมีเดียที่หลากหลายในปัจจุบัน Local Alike มีทั้งเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลโดยตรงกับชาวต่างชาติถึงความโดดเด่นในชุมชนต่างๆ และสามารถเข้าไปบุ๊คกิ๊งเพื่อที่จะเข้าพักในโฮมสเตย์ได้ทันที หรือแม้แต่การทำดิจิตอล คอนเทนท์ ที่หลากหลายบอกเล่าเรื่องราวจุดขายของการท่องเที่ยวชุมชนผ่านแฟนเพจเพื่อสอดรับกับกลุ่มลูกค้าองค์กร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อที่จะเข้าไปปรับปรุงแก้ไข หรือแม้แต่ลองจัดทำทริปท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติ เพื่อรับฟังเสียงตอบรับ
“ก่อนอื่นเลยเราจะใช้เวลาทำงานกับชุมชนนานพอสมควร เพราะว่าเราอยากให้ทางชุมชนที่ลงพื้นที่บริหารจัดการเรื่องของทริปเองได้ เพราะฉะนั้นทีมงานของพวกเราจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจชุมชนเรียกว่าฝังตัวก็ได้ค่ะ ทีมก็จะสำรวจดูว่าในชุมชนที่เราอยู่ ชาวบ้านยังต้องการอะไรเพิ่มและขาดเหลืออะไร และพยายามหาจุดที่ชุมชนนั้นๆ มีนำมาชูเป็นความพิเศษ แล้วเราก็ค่อยๆ มาปรับใช้ ซึ่งในแต่ละชุมชนไม่เหมือนกันเลยมีทั้งวิถีชีวิต และการใช้ชีวิตต่างกันไป ถ้าสิ่งที่ชาวบ้านเขามีกันอยู่แล้วและน่าสนใจ เราก็จะไม่เปลี่ยนอะไรมากแต่จะหาวิธีนำเสนอความเป็นชุมชนของเขาให้ได้ดีขึ้นอย่างถ้าเราเห็นว่าชุมชนนี้เหมาะกับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เราก็จะชูจุดนั้น แล้วเราก็จะเริ่มทำเทสต์ทริปพานักท่องเที่ยวเข้าไป หลังจากนั้นถ้าทุกอย่างพร้อมเราจะขึ้นเว็บไซต์ ทำข้อมูล ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถ้ามีนักท่องเที่ยวอยากไปพักในโฮมสเตย์ของชุมชนไหน เขาก็สามารถติดต่อตรงไปที่ชาวบ้านได้เลย
“ส่วนในเรื่องของแฟนเพจเนื่องจากชาวต่างชาติไม่ค่อยนิยมเล่นเฟซบุ๊กเสียเท่าไหร่ การทำแฟนเพจของ Local Alike จึงเป็นเหมือนสร้างการเรียนรู้ให้กับคนไทยมากกว่า คือเราอย่างสร้างคอมมูนิตี้สำหรับการรับรู้ในคนไทยถึงการท่องเที่ยวชุมชนเป็นยังไง แล้วก็มีไว้ช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ในงานด้านอื่นๆ อย่างเช่นกิจกรรมเชิงอาสาพัฒนาชุมชน หรือแม้แต่องค์กรไหนอย่างเข้าไปทำเรื่องพัฒนาชุมชนเราก็จัดเป็นโครงการให้ คือจริงๆ เป้าหมายของเราในการทำแฟนเพจคือสนับสสนุนให้ความรู้ เพื่อที่จะให้คนออกไปท่องเที่ยวในรูปแบบชุมชนกันได้ถูกต้อง หรือแม้แต่เป็นเหมือนคู่มือปฎิบัติในการท่องเที่ยวแนวนี้มากกว่า ซึ่งก็จะเป็นคอนเทนท์พวกฮาวทูถึงชุมชน” สาวสวยแห่ง Local Alike กล่าวไว้เช่นนั้น
หากจะสรุปง่ายๆ การมีขึ้นของ “Local Alike” คงต้องพูดในทำนองว่าพวกเขาเหมือนหรือใช่ธุรกิจเพื่อชุมชน โดยเน้นใช้โซเชียลในการกระจายรายได้เข้าชุมชน พวกเขาเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากอีกซีกโลกหรือแม้แต่คนไทยเอง ให้เข้าถึงชุมชนที่มีการพัฒนาและมีศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ แม้ชุมชนนั้นจะห่างไกลความเจริญ อีกด้านพวกเขาก็ช่วยสร้างความเชื่อใจให้กับนักท่องเที่ยว สุดท้าย “Local Alike” ต้องการเปลี่ยน คำว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของบ้านเราให้ดีขึ้น
จากข้อมูล “Local Alike” ทำงานในหลายๆ ด้านในเรื่องของการพัฒนาชุมชน แต่ทุกครั้งรายได้ในส่วนของแพคเกจทัวร์ชุมชน “Local Alike” จะแบ่งไว้ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้กับชุมชนอื่นๆ อีกต่อไป เป็นเหมือนสายใยที่โยงเป็นเครือข่ายในการท่องเที่ยวรูปแบบชุมชน ซึ่งวิธีคิดเช่นนั้นทำให้ปัจจุบัน “Local Alike” สามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียพัฒนาโฮมสเตย์ ในประเทศไทยกว่า 30 ชุมชน เสมือนการต่อยอดชุมชนต่อชุมชนไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด และชุมชนอื่นๆ ก็จะสามารถสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในชุมชนในแบบตัวเองได้โดยมีเงินสนับสนุน
และแน่นอนว่าในอนาคต การทำงานที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนชุมชนของคนหนุ่มสาว ในแบบฉบับของ “Local Alike” ที่เน้นใช้โซเชียลเข้ามาพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน จะสามารถเติบโตไปได้อีกไกลโข
ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มได้ที่ www.localalike.com
Facebook: Local Alike