การประกาศปิดกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอ็นโซโก้ “ Ensogo” เว็บไซต์ขายดีลส่วนลดสินค้าและบริการชื่อดังเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะ “ช็อค” ความรู้สึกของผู้ใช้บริการแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเอ็นโซโก้และกรณีนี้จะกระทบกับธุรกิจตลาดออนไลน์ในบ้านเราอย่างไร
“ภาวุธ พงษ์วิทยานุ” หรือ “คุณป้อม” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “TARAD.com” ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) มาอย่างยาวนานเล่าว่ากรณีการปิดกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยของเอ็นโซโก้ เป็นกรณีที่ไม่ปกติ แต่เป็นเรื่องของทิศทาง หรือ Direction ของธุรกิจ และการบริหารงานภายในองค์กร
โดยเอ็นโซโก้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลียแต่ด้วยทิศทางธุรกิจที่ทำคือ คือการซื้อขายดีลสินค้าและบริการ ไม่ได้เติบโตมากเท่าที่ควร ส่งผลให้นักลงทุนอาจจะเปลี่ยนใจ ไม่ลงทุนต่อ
แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้รุนแรงขึ้น ตั้งแต่เว็บไซต์ ลาซาด้า “Lazada” ถูกอะลีบาบา “ Alibaba” เทคโอเวอร์กิจการ ซึ่ง Alibaba มีเม็ดเงินมหาศาลในการลงทุนและขยายกิจการ คนที่จะเข้ามาก็ต้องคิดว่าจะสู้กับลาซาด้าอย่างไร ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักลงทุนคิดจะถอยออกมา
“ เอ็นโซโก้ปิดกิจการ ไม่ใช่เพราะธุรกิจไปไม่ได้ ธุรกิจไปได้ แต่ว่าการแข่งขันมันสูงขึ้นจริงๆ เพราะอย่างเอ็นโซโก้อยู่ในธุรกิจดีล อยู่ในตลาดมา 5 ปี แต่การการเติบโตเริ่มตกลง ที่ผ่านมาเอ็นโซโก้ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจ เปลี่ยนจากการขายดีลอย่างเดียว มาเป็นขายของ ขยับจากขายดีล มาเป็น “Market place” แน่นอนว่า พอเป็น market place ก็ต้องวิ่งมาชนกับลาซาด้า และ ตลาดดอทคอม ยิ่งทำให้การแข่งขันท้าทายมากขึ้น นักลงทุนจึงมองว่าโอกาสอาจจะไม่ดี เลยหลบดีกว่า”
เอ็นโซโก้ปิด…ไม่กระทบตลาดออนไลน์
สำหรับกรณีที่มีความกังวลว่า หลังเกิดกรณีเอ็นโซโก้ จะกระทบกับความเชื่อมั่นของลูกค้า และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ใช้บริการซื้อขายสินค้านั้น “คุณป้อม” ยืนยันว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ และไม่กระทบกับยอดขายของตลาดดอทคอม เพราะกรณีของเอ็นโซโก้ เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น กลุ่มเอ็นโซโก้เป็นกลุ่มที่ขายดีลเป็นหลัก ยอดขายของเขากว่า 80% เป็นดีล ส่วนอีก 20% เป็นสินค้า
“แม้จะเกิดกรณีเอ็นโซโก้ คนซื้อก็ยังต้องซื้อสินค้าอยู่ดี หากเจอของออนไลน์ถูกกว่า ต้องเข้าใจว่าจุดที่ทำให้คนซื้อสินค้าออนไลน์ คือเรื่องราคา และความหลากหลาย ทุกวันนี้หากคนอยากซื้ออะไร หาอะไร จะใช้ช่องทางออนไลน์ เพราะมีความหลากหลายมากกว่า”
จากกรณีที่เกิดขึ้นกับเอ็นโซโก้ ทำให้เกิดคำถามว่า จะเกิดสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ กับเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมการซื้อขายสินค้าออนไลน์รายอื่นๆหรือไม่ ซึ่งในส่วนของเว็บไซต์TARAD.comนั้น คุณป้อมบอกว่า
“ เราไม่ได้ชนตรงๆ กับลาซาด้า เพราะด้วยเม็ดเงินเราไม่ได้มีมากมายเหมือนเขา การสู้กับลาซาด้า เราจึงต้องสู้ในทางที่เราถนัด และแข็งกว่า อย่างลาซาด้าจะเน้นเรื่องช็อปปิ้งเป็นหลัก แต่เราไม่ได้เน้นไปทางนั้นจ๋า แต่เน้นเรื่องอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ให้ธุรกิจเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ได้ ตลาดดอทคอมจะมี 2 ส่วนคือคนที่อยากจะช็อปปิ้ง ก็เข้ามาที่ตลาดดอทคอมได้ หรือ คนที่อยากจะสร้างหน้าร้านออนไลน์ หรือเปิดธุรกิจออนไลน์ ก็มาใช้ตลาดดอทคอมได้”
ขณะที่เว็บไซต์ลาซาด้า เป็นลักษณะ “ช็อปปิ้งมอล” สินค้าทุกอย่างจะอยู่ภายใต้แบรนด์ลาซาด้าหมด แต่ของตลาดดอทคอมไม่ใช่แบบนั้น ร้านค้าที่เข้ามาขายใช้แบรนด์ของตัวเอง อีกทั้งยังสามารถสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงได้ เพราะเรามองว่าคนไทยยังต้องการการซื้อขายที่สามารถเจอกับคนขายอยู่ แต่ลาซาด้าจะไม่ให้คนขายเจอกับลูกค้าโดยตรงเลย ทำให้การบริการจัดการจะมีปัญหามากกว่า
อีคอมเมิร์ซเมืองไทยรุ่ง … เติบโตปีละ20-25%
สำหรับภาพรวมธุรกิจซื้อขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซในเมืองไทยปัจจุบัน ยังมีการเติบโตในระดับสูง เฉลี่ยปีละ 20-25% หากคิดรวมมูลค่าการซื้อขายรวมทุกอุตสาหกรรม ทุกเซ็คเม้นท์ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท แยกเป็นตลาดกลุ่มรีเทล หรือค้าปลีกประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตในทุกๆ จุด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเติบโตมาก เพราะประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ กลุ่มธุรกิจ หรือ B2B มีมูลค่าการซื้อขายต่อปีประมาณ 1.2 ล้านล้าน เพราะเป็นการซื้อขายล็อตใหญ่ มูลค่าการซื้อขายต่อครั้งสูงหลายล้านบาท
ปัจจัยที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยมีการเติบโตนั้น มาจากหลายปัจจัย ทั้ง มาจากระบบการชำระเงินของประเทศที่ดีขึ้น ระบบขนส่งที่ดีขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการเติบโตจริงๆ คือการใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันคนใช้อินเตอร์เน็ตคิดเป็นกว่า 50% แล้ว โดยเฉพาะการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3 จี และ 4 ปี รวมถึงการใช้เฟซบุ๊ค ที่มีคนไทยเข้าใช้ถึง 41 ล้านคน ปัจจัยเหล่านี้คือตัวกระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซ ทำให้การค้าขายออนไลน์เติบโตขึ้นมาก
“ ปีนี้ก็ยังมองว่ามีการเติบโตในระดับ 20-25% อยู่ เพราะยังมองไม่เห็นปัจจัยลบที่จะทำให้การเติบโตลดลง มีแต่ปัจจัยบวกที่จะทำให้การทำธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้น ทั้งอัตราการใช้อินเตอร์เน็ต รวมถึงนโยบายอีเพย์เม้นท์ หรือพร้อมเพย์ของรัฐบาล ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนตลาดบ้านเรา ทำให้เกิดธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า การเข้าถึงง่ายกว่า เพราะใช้แค่เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชนก็สามารถโอนเงินได้ ซึ่งเรื่องอีเพย์เม้นท์นี้ ผู้ประกอบการอย่างเรา Happy เพราะการไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้จ่ายผ่านบัตร จะช่วยหนุนยอดขายได้เยอะทีเดียว”
มุ่งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคซีแอลเอ็มวี
ในส่วนของตลาดดอทคอม นอกจากจะต้องเตรียมตัวรับกับนโยบายอีเพย์เม้นท์ของรัฐบาลแล้ว คุณป้อมยังบอกอีกว่า มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจออกไปยังต่างจังหวัด และขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ โดยเน้นที่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เริ่มต้นได้เข้าไปศึกษาโอกาสการลงทุนที่ลาวและพม่าแล้ว ประเทศเหล่านี้น่าสนใจ เพราะมีระบบ 3 จี และ 4 จีรองรับแล้ว โดยจะเริ่มที่เมียนมาร์ก่อน ส่วนประเทศลาวปลายปีอาจจะได้เห็น
สำหรับการขยายธุรกิจในต่างจังหวัดนั้น ปัจจุบันตลาดดอทคอมได้มีสาขาที่เชียงใหม่แล้ว ต่อไปจะขยายไปจังหวัดใหญ่ๆ ในทางภาคอีสานและภาคใต้ ตลาดต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เราต้องไป เพราะมีดีมานด์สูงมาก อีกทั้งยังไม่ค่อยมีคนไปทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในต่างจังหวัด
นอกจากการขยายธุรกิจออกไปยังต่างจังหวัดและต่างประเทศแล้ว คุณป้อมบอกอีกว่า มีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำตลาดดอทคอมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2020 เพื่อระดมทุนมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต