เชื่อว่าคนไอที กว่า 90 % รู้จัก เว็บไซต์บล็อกนัน (blognone.com) ศูนย์กลางข่าวสารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อถือได้ ฉับไว ทันทุกเหตุการณ์ เน้นนำเสนอ Content ที่ไม่หวือหวาแต่ที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก มีประโยชน์กับผู้อ่านอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่เว็บข่าวอื่นๆ ไม่ค่อยนำเสนอ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย แนวทางการกำกับดูแลระบบไอทีทั่วโลก หรือ ช่องโหว่ความปลอดภัยไซเบอร์ แน่นอนเมื่อเอ่ยถึง “บล็อกนัน” ชื่อของ “ลิ่ว” วสันต์ ลิ่วลมไพศาล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ดังด้านไอทีที่มีอายุยืนยาวมากว่า 1 ทศวรรษ ก็คงคุ้นหูใครหลายคน
วันนี้นิตยสารอะเบาท์อิท มีโอกาสได้นัดสัมภาษณ์กับ “ลิ่ว” ที่ออฟฟิศย่าน 5 แยกลาดพร้าว ภาพแรกในจินตนาการหนุ่มไอทีผู้นี้คงจะมีลุคเนิร์ดๆ เช่นเดียวกับ “เด่นชัย” พระเอกในหนังรักเรื่อง “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” แต่ผิดคาด ด้วยผิวที่ดูขาวสุขภาพดี หน้าตี๋ มาดนิ่งๆ แต่ดูอบอุ่นทุกครั้งที่เผยรอยยิ้ม ทำให้ “ลิ่ว” คล้ายหมอรักษาคนไข้มากกว่าพนักงานไอที…บทสัมภาษณ์ฉบับนี้ อะเบาท์อิทจึงขอพุ่งเป้าไปที่ประเด็นเกี่ยวกับหน้าที่การงานจริงๆ ของเขา ซึ่งน้อยคนนักจะรู้!
ปัจจุบันวสันต์ ลิ่วลมไพศาล สวมบทบาท Software Development Specialist บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC รวมระยะเวลา 10 ปีกว่า ดูแลรับผิดชอบ 2 ส่วนงานหลัก ซึ่งลิ่วเล่าให้เราฟังว่า “ผมจะทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ตามโปรเจคที่ได้เข้าไปร่วมงาน โดยเน้นเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python เป็นหลัก และอีกส่วนงานที่รับผิดชอบคือ ดูแลระบบการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค ซึ่งโปรเจคสำคัญๆ โปรเจคแรกที่ MFEC ไว้วางใจให้ดูแลเมื่อสิบปีก่อน คือ โปรเจคพัฒนาเอนจินให้กับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีความท้าทายหลายอย่าง เพราะเป็นการประมวลผลตามเวลาจริง (real time) การทำงานที่ต้องกระจายตัวไปยังหลายๆ เครื่อง และปัจจุบันบริษัทฯ มอบหมายให้ผมดูแลพัฒนาระบบหลังบ้านของโบรกเกอร์ที่มีบริษัท Angstrom Solution เป็นผู้ดำเนินการ”
เมื่อยิงคำถามที่ว่า…ความถนัดที่สุดในสายงานไอทีของคุณคืออะไร? คำตอบที่ได้ฟัง ทำให้หมดความสงสัยว่าทำไมผู้ชายคนนี้ถึงรู้ไปซะทุกเรื่องเกี่ยวกับไอที “ผมมองว่างานไอทีในอนาคตคงไม่มีการแบ่งแยกสายงานชัดเจนเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบันเรามักได้ยินชื่อตำแหน่งงานใหม่ๆ เช่น DevOps (มาจากการรวมกันของคำว่า Development กับ Operation) ขณะที่งานเน็ตเวิร์คก็อาจต้องเขียนโปรแกรมมากขึ้นเช่นกัน ในส่วนของความถนัดผมคิดว่า บางครั้งมันอาจทำให้เรายึดติดและหยุดเรียนรู้ ส่วนตัวผมเองชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ และงานสายไอทีทั้งหมดคงเป็นเรื่องปกติที่เราต้องอ่านเพิ่มเติมกันตลอดเวลา และทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากรที่ไหน ผมมักจะพูดคำนี้เสมอ ความไม่รู้ ทำให้เรารู้ว่ามีอะไรให้ศึกษาอีกมาก”
ก่อนจะจบบทสนทนา วสันต์ได้ฝากข้อคิดดีๆ ที่ว่า “ผมเชื่อว่ามีผู้คนมากมายที่อยากทำงานไอที ซึ่งสำหรับผมจุดเริ่มที่สำคัญที่สุดบนถนนสายนี้คือ คุณต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ตัวเองชอบมันจริงๆ หรือเปล่า เพราะหากไม่ชอบแล้วต้องเรียนคอมพิวเตอร์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทรมานมากๆ แต่ถ้าได้คำตอบแล้วว่าชอบมันจริงๆ สำหรับคนที่ยังไม่ได้เลือกเรียนสายไอทีมาก่อนก็คงแนะนำให้หัดเขียนโปรแกรมเบื้องต้นแต่เนิ่นๆ เลยครับ”