สำนวนฝรั่งว่าไว้ If you want to go fast go alone. If you want to go far, together แปลเป็นไทยได้ความว่า “ถ้าคุณอยากไปเร็ว ไปคนเดียว แต่ถ้าคุณอยากไปไกล ไปด้วยกัน”
ไม่มากก็น้อยสำนวนนี้ดูจะสอดคล้องกับความท้าทายใหม่ของผู้ชาย 2 คนเบื้องหน้าเรา อย่าง เจ้าพ่อไอที “เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC และยอดฝีมือแห่งวงการเพลงรักเมืองไทย “บอย” ชีวิน โกสิยพงษ์ ผู้บริหารค่ายเพลงเลิฟอีส (LOVEiS)
ในวันที่เทคโนโลยีกำลังเล่นเอาวงการธุรกิจปั่นป่วนและท้าทายความสามารถของผู้ที่จะเดินต่อไป จึงกลายเป็นเหตุผลให้ 2 ผู้บริหารต่างวงการ เลือกจับมือใส่เกียร์พัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ที่หวังเปลี่ยนแปลงนิเวศของวงการเพลง โดยคอลัมน์ 360 View ฉบับนี้จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปเจาะลึกความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจของเขาทั้ง 2 คน
เริ่มรู้จักกันได้อย่างไร
บอย – ผมได้รู้จักกับเล้งมานานพอสมควร เพราะได้มีโอกาสพบกันตามงานต่างๆ แต่ที่ได้มาคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวเพราะคุณเล้งแกเป็นเพื่อนกับเพื่อนของผมครับ
เล้ง – ผมเริ่มรู้จักพี่บอยในฐานะแฟนเพลงก่อน ได้เห็นพี่บอยพูดตามงานต่างๆ กระทั่งได้มีโอกาสทำความรู้จักกันจริงๆ ผ่านเพื่อน รู้สึกยินดีมาก เพราะการได้เป็นเพื่อนกับพี่บอย นำไปสู่การได้พบกับมิตรภาพดีๆ เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย ตั้งแต่น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งความคิด แรงบันดาลใจ ทำให้สังคมของผมทุกวันนี้มันดี
เรื่องที่ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกันมากที่สุด
บอย – ที่ผ่านมาเรามักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนโลกในมุมมองของทั้งสองฝ่าย ผมไม่เคยเข้าใจโลกของฝั่งธุรกิจไอที ก็ได้เข้าใจเพราะคุณเล้ง ขณะเดียวกันก็ได้แบ่งปันโลกในฝั่งของผมให้แกฟัง ที่ประทับใจคือ เล้งแกเป็นนักธุรกิจที่พยายามทำความเข้าใจ ไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะแก้ปัญหาให้โลกฝั่งของผมที่เป็นโลกด้านศิลปิน ตั้งแต่แรกได้ขอเล้งว่า ผมไม่ใช่นักธุรกิจ และไม่อยากทำธุรกิจแบบต้องคอยระวังหน้า ระวังหลัง อยากโฟกัสเรื่องการสร้างสรรค์ คือช่วยระวังหน้าและหลังให้ผมด้วย โดยเป้าหมายของผมคือไม่ต้องการเอาเปรียบใคร แฟร์ๆ เราทั้งสองเท่าๆ กันเหมือนเท้าขวาเท้าซ้าย ซึ่งแกก็รับปากและทำตามนั้นเรื่อยมา
เล้ง – พี่บอยเป็นคนคิดบวกครับ มีศักยภาพ ความสามารถและพลังในมุมมองด้านบวกเยอะมาก ใครก็ตามที่ได้คุย ได้ทานข้าวกับพี่บอย หรือได้เห็นตัวตนด้านอื่นของเขานอกเหนือจากความเป็นศิลปินแล้ว จะรู้ว่าเขาเป็นคน Very Positive thinking มากๆ มีความตั้งใจที่จะใช้ความรักหรือสิ่งดีๆ ถ่ายทอดให้คนรอบข้างและสังคมเสมอ
วงการไอทีและวงการเพลงมาบรรจบกันได้อย่างไร
เล้ง – โลกอยู่ในจุดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โมเดลธุรกิจแบบเดิมที่คัดสรรศิลปิน แต่งเพลงออกมาขายเป็นอัลบัม หรือปล่อยให้ดาวน์โหลด นั้นไม่มีอีกแล้ว ทุกคนต้องการฟังฟรี ขณะที่ในมุมของผู้ผลิต กลับพบว่าต้นทุนยังสูงเท่าเดิม ฉะนั้นทิศทางอยู่ที่ว่า ใครจะเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจได้ขนาดไหน อุตสาหกรรมนี้ถูกแทรกแซงและมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันท้าทายมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลง แปลว่ามันมีโอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอ
บอย – โลกของไอทีเป็นโลกเสมือนโลกที่เรายืนอยู่นี้ มีระบบนิเวศ ต่างๆไม่ต่างจากโลกใบนี้ แต่จะต่างกันตรงที่ มีอะตอม กับ เลข binary (ระบบเลขที่มีสัญลักษณ์เพียงสองตัวคือ 0 กับ 1) เป็นพื้น แน่นอนโลกไอทีย่อมสามารถเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้กับโลกจริง ดังนั้นการหาความสมดุลย์ของทั้งสองโลกนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ
ความร่วมมือแรกกับโปรเจคแอพพลิเคชั่น Fanster
เล้ง – สิ่งที่ผมและ MFEC ถนัดคือความสามารถในการใช้เทคโนโลยี พัฒนาหรือยกระดับอุตสาหกรรม จนวันหนึ่งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับพี่บอย คุยกันว่า เราจะสามารถทำอะไรที่ตอบโจทย์และได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งตัวธุรกิจ ศิลปิน และแฟนเพลง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญในการเปลี่ยนแปลง โดยพวกเราเริ่มมองจากตัวศิลปิน ซึ่งมีแฟนเพลง มีคนติดตามจำนวนมากจากการที่เขาเป็นคนดัง เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลในโลกของเขา เลยนั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเกิดประโยชน์ และเอาประโยชน์นั้นกลับไปทำให้เขาประสบความสำเร็จและเติบโตต่อไป ซึ่งไอเดียนี้มีความสนุกสนานและทำให้ทีมงานตื่นเต้นมาก ตั้งแต่การเริ่มสำรวจตลาด โดยทีมงานลองสอบถามแฟนคลับของค่าย เลิฟอิส (LOVEiS) ว่าคุณพร้อมจะสนับสนุนศิลปินคุณไหม ในจำนวนเงิน 100 บาทต่อปี เชื่อไหม ไม่มีใครตอบ NO ทุกคน YES หมด
บอย – Fanster เป็นหนึ่งในแอพฯ ที่เราพยายามเชื่อมทั้งสองโลกทั้งไอทีและเพลงเข้าไว้ด้วยกันให้สมดุลย์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชื่อว่าถ้าสามารถจับจุดนั้นได้จริงๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลมากต่อทุกคนในโลก ซึ่งชื่อ fanster มาจากลักษณะของกลุ่มคนที่มีพลังแห่งความรักในสิ่งที่ชื่นชมอยู่อย่างจริงจัง กลุ่ม fanster จะมาร่วมกันสร้างระบบนิเวศใหม่ที่สามารถเชื่อมโลกไอทีและโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน เชื่อว่าพวกเขามีทั้งความรัก พลัง รวมทั้งหัวใจที่ยิ่งใหญ่เพียงพอจะทำให้ระบบนิเวศที่เรากำลังฝันอยู่นี้เกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ ส่วนในระบบนิเวศย่อยของแอพ fanster จะทำหน้าที่ร่วมกันกับ fanster ทุกคนเพื่อที่จะนำข้อมูลที่ละเอียดและตรงประเด็นของชุมชน fanster มาปรับใช้ให้เป็นเครื่องมือทางการตลาดของสินค้าต่างๆ อย่างไม่มีใครเสียเปรียบใคร พูดง่ายๆว่ายุติธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย
วางเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ไว้อย่างไร
เล้ง – เราพยายามหารายได้จากความสามารถในการเข้าถึงของคนในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเพลงและศิลปินใกล้ชิดมีส่วนร่วมระหว่างกันมากกว่าเดิม ผ่านเทคโนโลยีซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ ทำให้ได้ประโยชน์กับธุรกิจและมีรายได้มาสนับสนุนศิลปินเพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ พูดง่ายๆ ว่าวินๆ กับทุกฝ่าย ทั้งแฟนคลับ ศิลปิน และธุรกิจ แต่ไม่ได้การันตีว่า งานนี้จะประสบความสำเร็จ มันคือการลองผิดลองถูกกับประสบการณ์ใหม่และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องทำในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
จุดสำคัญของการทำธุรกิจลักษณะนี้ คือการเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก รู้ให้เร็ว ปรับตัวให้เร็ว ไม่มีใครหรอกที่ออกมาแล้วปั๋ง…ตู้ม สำเร็จทันที วิธีการคือรีบออกมาก่อน แล้วปรับจูน จนทำให้ผู้ใช้รู้สึกดี เป้าหมายระยะแรกคือ ประสานการเข้าถึงจากแฟนคลับ ศิลปินและธุรกิจให้เป็นพาร์ทเนอร์ ที่อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ให้ได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
บอย – เป้าหมายที่ผมฝันไว้คือ แพลตฟอร์มที่เราร่วมกันสร้างจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการเงินของโลกกลับไปสู่จุดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ทุกๆ คนอย่างเสมอภาค ไม่ใช่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในมือของคนบางกลุ่มและถูกเขาเชิดอย่างไรก็ได้ เหมือนที่เป็นอยู่ การเดินหน้าร่วมกันครั้งนี้ต้องพยายามประคับประคองให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจเท่าเทียมกัน มองเห็นในมุมมองเดียวกัน ก้าวย่างด้วยความเร็วเท่าๆ กันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เพื่อให้เกิด momentum เพียงพอที่จะเกิดแรงเหวี่ยงให้เราไปถึงจุดที่ฝันไว้
ขอฝาก fanster ไว้ในมือของพวกเราทุกคน มันอาจจะดูเป็นเพียงแอพฯ สำหรับแฟนคลับที่ผิวเผินแต่ถ้ามองให้ลึกซึ้ง ผมเชื่อว่าถ้าร่วมมือกัน สิ่งที่อยู่ในอุดมคติของทุกคนอาจมาถึงในรุ่นของพวกเราก็เป็นได้
ถามถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ MFEC บ้าง เปลี่ยนแปลงไปตามโลกมากน้อยแค่ไหน
เล้ง – โมเดลธุรกิจเดิมนั้นวันแมนโชว์ได้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สำหรับเราคือ ทำอย่างไรเพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ให้เขา success เหมือนกับที่เรา success
เมื่อก่อนเราเป็นผู้ขายเทคโนโลยีเพื่อให้ลูกค้านำเอาไปแก้ปัญหาของตัวเอง แต่ตอนนี้ธุรกิจลักษณะนี้เปลี่ยนไป เนื่องจากโลกหมุนเร็วจนลูกค้าไม่รู้จะซื้ออะไร ธุรกิจถดถอยเพราะไปไม่ทัน รวมถึงไม่มีเงินลงทุนด้วย
สิ่งที่ MFEC เปลี่ยนตามโลก คือ เราใช้ความรู้และสกิลในเชิงเทคโนโลยีมาสร้างตลาดใหม่เอง ซึ่งหมายถึงรายได้ใหม่ด้วย คุณทำตรงนั้น ผมทำตรงนี้ กำไรแล้วแบ่งกัน พูดง่ายๆ แทนที่จะเอาความถนัดของเราไปขายให้ลูกค้าเหมือนอดีต เรากำลังเอาความถนัดของเรามาสร้างตลาดใหม่ เพื่อให้เกิดรายได้ทางใหม่ จึงเป็นที่มาของโครงการสตาร์ทอัพต่างๆ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลกแล้วว่า เทคโนโลยีนั้นคือกุญแจสำคัญ สำหรับธุรกิจที่ต้องการเทิร์นอะราวด์หรือเปลี่ยนแปลง
Strategy ที่เรากำลังทำมี 2 มิติคือ 1.ใช้เทคโนโลยียกระดับหรือพัฒนาธุรกิจที่เปลี่ยนไป 2.สร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพ โดยทำให้องค์กรเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนและพัฒนาทักษะร่วมกันจนประสบความสำเร็จ โมเดลการทำธุรกิจแบบนี้ ทำให้ภาพในอดีตที่ทุกคนเป็นเสมือนลูกจ้างเปลี่ยนแปลงไป นับจากนี้พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ซึ่งมันสนุกสนานและเปิดศักยภาพกว่าเดิมมาก