Skip links
View
Drag

PDPA 7 สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่องค์กร หน่วยงาน หรือนิติบุคคลให้มี “มาตรฐาน” ในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมและเพียงพอ เมื่อมีความจำเป็นต้องขอใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบไปถึงการรักษาความลับ (Confidentiality) ความถูกต้องสมบูรณ์ (Integrity) และความพร้อมใช้งาน (Availability) ของข้อมูลส่วนบุคคล ที่ก่อให้เกิดแนวโน้มให้เกิดผลกระทบเชิงลบหรือความเสียหายในระดับบุคคลหรือองค์กร⠀⠀บุคคลทั่วไปในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) ควรจะตระหนักและเข้าใจสิทธิของตนเอง โดยสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีด้วยกันทั้งหมด 7 ประการ

1. สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed)
⠀⠀
การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งรายละเอียดในการเก็บข้อมูล ตลอดจนการนำไปใช้ หรือเผยแพร่ให้เจ้าของข้อมูลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูล

2. สิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access)
⠀⠀
เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเองจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

3. สิทธิในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (Right to data portability)
⠀⠀
ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลต้องการนำข้อมูลที่เคยให้ไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลรายหนึ่ง ไปใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลอีกราย เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดทำข้อมูล ให้ส่งหรือโอนข้อมูลดังกล่าวให้ได้ 

4. สิทธิคัดค้านการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object)
⠀⠀
เจ้าของข้อมูลสามารถคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงสามารถทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

5. สิทธิขอให้ลบ ทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถระบุตัวตนได้ (Right to erasure; also known as right to be for-gotten)
⠀⠀
หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล นำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ หรือสามารถเข้าถึงได้ง่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทำการลบ ทำลายข้อมูล หรือทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถระบุตัวตนได้

6. สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูล (Right to restrict processing)
⠀⠀
เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนใจไม่ต้องการให้ข้อมูลแล้ว หรือเปลี่ยนใจระงับการทำลายข้อมูลเมื่อครบกำหนดที่ต้องทำลาย

7. สิทธิการขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (Right of rectification)
⠀⠀
เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยการแก้ไขนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริต และไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย
⠀⠀
หมายเหตุ : ทั้งนี้ ควรเก็บบันทึกหลักฐานไว้ หากพบว่าข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ที่ตกลงกัน ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ